September 12, 2008

คำแปลจากนิวยอร์คไทมส์

Posted in Uncategorized at 11:03 am by freethai

นิวยอร์คไทมส์, 11 กันยายน 2008, วิกฤตของไทยนำไปสู่การต่อรองทางการเมือง

 

กรุงเทพ, การเมืองของไทยเผชิญกับการต่อรองอำนาจอย่างรุนแรงเมื่อวันพุธที่ผ่านมา หลังจากที่นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดและสั่งปลดจากตำแหน่งหลังจากที่เขาได้รับเงินจากการแสดงการทำอาหารในรายการโทรทัศน์

 

พรรคการเมืองของสมัครประกาศในทันทีทันใดว่าจะยังคงเสนอชื่อเขาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อมีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันศุกร์นี้ แต่เสียงสนับสนุนของเขาลดลงและมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นมาจากทั้งภายในและภายนอกพรรคร่วมรัฐบาล

 

ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม ไม่มีสัญญาณว่าการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่กำลังสร้างความเสียหายอยู่ทั่วไปจะลดลง โดยการประท้วงดังกล่าวได้ลุกลามไปยังกลุ่มนักศึกษาและสหภาพแรงงานด้วย

 

การประท้วงครั้งนี้เป็นมากกว่าการประท้วงรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะเป็นการประท้วงที่มีรากฐานมาจากการแตกแยกทางสังคมและการเมืองที่ร้าวลึกและรุนแรงขึ้นตลอดเวลาสามปีที่ผ่านมาและส่งผลคุกคามต่อเสถียรภาพของประเทศไทย

 

กลุ่มผู้ประท้วงที่ตอนนี้ไปปักหลักอยู่ในทำเนียบรัฐบาลเป็นตัวแทนอันล่าสุดของความขัดแย้งที่มีมาโดยตลอดระหว่างแนวคิดที่นิยมประชาธิปไตยและกลุ่มชนชั้นสูงหัวโบราณในสังคมที่รู้สึกว่าตัวเองเสียผลประโยชน์เพราะการที่ประเทศเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย

 

ครั้งนี้ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร นักวิเคราะห์บอกว่าสิ่งที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือระบอบประชาธิปไตยของไทยนั่นเอง

 

รัฐบาลของสมัครชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วและอ้างว่าเขาเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นแค่การต่อขยายของระบอบเผด็จการโดยรัฐสภาของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ที่ได้ทำให้ระบอบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของไทยอ่อนแอลงตลอดเวลา 5 ปีที่เขาอยู่ในอำนาจ

 

ทักษิณพ้นจากตำแหน่งเพราะการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 และบัดนี้เขาพำนักอยู่ในลอนดอน โดยเขาอยู่ระหว่างการขอลี้ภัยทางการเมืองเพื่อหลบเลี่ยงข้อกล่าวหาเรื่องทุจริต โดยทักษิณอ้างว่าบรรดาข้อกล่าวหาทั้งหมดเป็นเรื่องที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง แม้ว่าเขาจะลี้ภัยอยู่ต่างแดน บุคลิกภาพและเงินทุนของเขายังทรงอิทธิพลในประเทศไทย และความโกรธแค้นของบรรดาผู้ประท้วงส่วนใหญ่ก็มุ่งไปที่เขา

 

บรรดาผู้ประท้วงเรียกตัวเองว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือ PAD แต่ความจริงแล้วพวกเขากำลังเรียกร้องให้นำประเทศถอยหลังกลับไปนับร้อยปี โดยอ้างว่าประเทศไทย ยังไม่พร้อมสำหรับระบอบประชาธิปไตย กลุ่มผู้ประท้วงต้องการให้ยกเลิกการมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งแล้วใช้วิธีการแต่งตั้งแทน ซึ่งด้วยวิธีการนี้ การปกครองประเทศก็จะควบคุมโดยชนชั้นสูง ซึ่งจะเหมือนกับที่สังคมไทยเคยเป็นในสมัยโบราณ

 

กลุ่มพันธมิตรเป็นพวกนิยมศักดินาที่แบ่งชนชั้นทางสังคมอย่างฝังลึก ธงชัย วินิจกุล ศาสตราจารย์วิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ให้สัมภาษณ์ โดยสรุปก็คือพันธมิตรฯไม่ไว้วางใจประชาชน

 

เขาเสริมว่า แนวความคิดแบบนี้มีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19 เมื่อรัชกาลที่ 5 บอกว่าคนไทยไม่ต้องการประชาธิปไตย คนไทยมีความไว้วางใจในพระเจ้าแผ่นดิน

 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา แนวคิดแบบนี้ก็ยังคงมีอยู่ธงชัยกล่าว ที่ว่าประชาชนไม่พร้อม

 

การประท้วงเริ่มต้นเมื่อปลายปี 2005 ในรูปของกระบวนการต่อต้านทักษิณซึ่งมีผลเป็นการเปิดทางให้มีการทำรัฐประหารให้ทักษิณพ้นจากตำแหน่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว กลุ่มพันธมิตรฯ รวมตัวกันอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมภายหลังจากที่รัฐบาลที่สนับสนุนทักษิณเข้ารับตำแหน่งและสถานการณ์เลวร้ายขึ้น เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อมีการใช้กำลังบุกเข้ายึดที่ตั้งที่ทำการของนายกรัฐมนตรี

 

โดยทั่วไปแล้วการประท้วงไม่ได้ใช้ความรุนแรงและทหารก็สัญญาว่าจะไม่ใช้กำลังสลายการชุมนุมแม้ภายหลังที่นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวชประกาศสภาวะฉุกเฉินเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

 

ในบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์มติชนเมื่อวันพุธได้มีการเตือนว่าถ้าสมัครกลับเข้ารับตำแหน่งอีกครั้งอาจก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจครั้งใหม่ที่รุนแรงขั้น การเลือกสมัครกลับเข้ามาจะมีแต่ทำให้รอยร้าวของสังคมรุนแรงขึ้นและอาจนำประเทศไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดการนองเลือด

 

กลุ่มผู้ประท้วงประกอบไปด้วยชนชั้นสูงที่จงรักภักดีในสถาบันกษัตริย์ นายพลและนักธุรกิจโดยมีบางส่วนที่เป็นพวกนิยมเสรีประชาธิปไตย นักศึกษาและสหภาพ บางส่วนมารวมตัวกันเพียงเพราะต่อต้านทักษิณเท่านั้น

 

หัวใจสำคัญของแนวคิดของกลุ่มพันธมิตรฯ จะทำให้ประเทศไทยพ้นจากการเป็นประชาธิปไตย และทำให้ประเทศไทยสูญเสียหลักการของสิทธิเสมอภาพที่คนทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน ประจักษ์ คงกีรติ นักรัฐศาสตร์แนวหน้าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สัมภาษณ์

 

ชนชั้นสูงจำนวนมากไม่เชื่อในสิ่งนั้น [ประชาธิปไตย/สิทธิเสมอภาค]” เขาบอก เราเป็นสังคมศักดินาที่แบ่งชนชั้นอย่างชัดเจน

 

แนวคิดของกลุ่มพันธมิตรฯ จะนำพาประเทศไทยถอยหลังไปอย่างน้อย 20 ปี กับแนวคิด กึ่งประชาธิปไตยที่บรรดาข้าราชการและกองทัพจะมีบทบาทในการเมืองและบรรดานักธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วม ผ่านกระบวนการแต่งตั้งสมาชิกสภา อ.ประจักษ์บอกโครงสร้างทางการเมืองแบบนี้ จะทำให้เกิดช่องว่างที่สำคัญและแตกต่างกันอย่างมากระหว่างกลุ่มผู้มีอันจะกินและกลุ่มคนยากจน

 

อาจกล่าวได้ว่าทุกรัฐบาลมีนโยบายที่มุ่งจะเอื้อประโยชน์ให้สังคมเมือง อ.ประจักษ์บอก ดังนั้นเวลาที่มีการเลือกตั้ง พวกเขาจะหาเสียงกับคนจนในชนบท แต่เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วก็จะจัดทำนโยบายที่ให้ประโยชน์แก่คนในเมืองและกลุ่มอุตสาหกรรม ในขณะที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วยความก้าวหน้าตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ผลพวงของความเจริญก้าวหน้าและระบบโลกาภิวัตน์ไม่ได้ตกไปถึงนอกเขตกรุงเทพ ซึ่งยังทำให้ความแตกต่างทางเศรษฐกิจของชนชั้นเพิ่มมากขึ้น

 

ทักษิณวางนโยบายที่ให้ความสำคัญกับคนจนโดยใช้นโยบายประชานิยม เช่น การรักษาพยาบาลราคาถูกและการปลดหนี้ คนจนที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจึงพบว่าตัวเองได้รับประโยชน์จากการที่ลงคะแนนเสียงให้ทักษิณ ส่งผลให้พรรคการเมืองของทักษิณชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายจนสร้างความหวาดกลัวให้กับสถาบันต่าง ๆ ที่มีพื้นฐานอยู่ที่คนในเมือง

 

และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลพบว่าระบอบประชาธิปไตยไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้แก่พวกเขาเหมือนเมื่อก่อน จึงทำให้พวกเขาต้องเริ่มแสวงหาอำนาจรัฐด้วยวิธีอื่น

 

กระบวนการต่อต้านรัฐบาลนี้เป็น เป็นการตอบโต้ของพวกที่ไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาคริส เบเกอร์ นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษและผู้เขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับประเทศไทยบอกเรา

 

คริสบอกว่า สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะสูญหายไปจากการถกเถียงของสังคมไทยในทุกวันนี้ คือพลังแห่งผู้นิยมเสรีประชาธิปไตยที่เป็นแรงผลักดันสำคัญของระบอบประชาธิปไตยตลอดศตวรรษที่ผ่านมา ความแตกต่างที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็คือกระบวนการประท้วงรัฐบาลไม่ได้มุ่งสร้างเสริมประชาธิปไตยแต่กลับต้องการยกเลิกประชาธิปไตย

 

เราเคยพร่ำสวดถึงการเลือกตั้งอยู่ตลอดเวลา สนธิ ลิ้มทองกุล นักหนังสือพิมพ์ผู้เป็นหนึ่งในผู้นำการประท้วงบอก

 

แต่ขณะนี้การเลือกตั้งของไทยนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ไม่มีคุณภาพ

 

ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชจนถึงปี 2475 แต่ประชาธิปไตยของไทยก็พบกับภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ ตลอดมาโดยเผชิญกับการทำรัฐประหาร 18 ครั้ง และมีรัฐธรรมนูญถึง 18 ฉบับ

 

รัฐบาลมักมาจากพรรคการเมืองหลาย ๆ พรรคที่รวมตัวกันอย่างไม่มีเสถียรภาพ จนกระทั่งทักษิณเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงข้างมากถึง 5 ปี และก่อนหน้าทักษิณก็ไม่เคยมีพรรคการเมืองใดหรือนายกฯคนใดชนะการเลือกตั้งสองครั้งติดต่อกัน

 

ในขณะที่มีการเผชิญหน้ากันต่อไปเรื่อย ๆ คำถามที่สำคัญก็คือกองทัพจะทำการรัฐประหารอีกครั้งหรือไม่ เพื่อที่จะอ้างว่าทำไปเพื่อรักษาความสงบ แม้ว่าผู้บัญชาการทหารบกพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดาจะบอกว่าจะไม่มีการทำรัฐประหารก็ตาม

 

ถ้าสถานการณ์มีความตึงเครียดถึงขั้นวิกฤตคนไทยจำนวนมากหวังว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจะเข้ามาแทรกแซงเหมือนที่เคยทรงทำมาหลายครั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมาเพื่อลดความขัดแย้ง พระเจ้าแผ่นดินทรงอยู่เหนือข้อขัดแย้งทางการเมือง แต่ทรงเป็นที่เคารพรักอย่างมากและพระดำรัสของพระองค์ก็เป็นเสมือนที่พึ่งสุดท้ายสำหรับประเทศที่ยังหาจุดยืนทางการเมืองไม่พบ

 

บุคลิกภาพของพระองค์เป็นศูนย์รวมของสังคมไทยและเป็นศูนย์กลางของความเป็นไทย คงไม่มีทายาทองค์ใดที่จะสืบทอดความทุ่มเทและอิทธิพลเชิงจริยธรรมที่พระองค์ได้สร้างไว้ตลอด 62 ปี ที่ครองราชย์

 

พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระชนม์มายุกว่า 80 ชันษาและมีพระพลานามัยไม่แข็งแรง และสิ่งหนึ่งที่คุกคามการเมืองไทยก็คืออะไรจะเกิดขึ้นหากสิ้นพระองค์แล้ว

http://www.nytimes.com/2008/09/11/world/asia/11thai.html?_r=2&sq=thailand&st=cse&oref=slogin&scp=4&pagewanted=print&oref=slogin

 

Leave a comment