September 15, 2008

ความน่าเชื่อถือกระบวนการยุติธรรมของไทยในสายตาชาวโลก

Posted in Uncategorized at 4:37 am by freethai

ความน่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรมของไทยในสายตาชาวโลก

สำนักข่าวเอเยนต์ฟรานซ์ : 14 กันยายน 2008 : ฮ่องกงมีกระบวนการยุติธรรมที่ดีที่สุดในเอเชียจากการตรวจสอบความเห็นของภาคธุรกิจ

 

ฮ่องกงและสิงคโปร์ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคนี้มีกระบวนการยุติธรรมที่ดีที่สุดในเอเชียในขณะที่อินโดเนเชียและเวียดนามมีกระบวนการยุติธรรมที่แย่ที่สุดซึ่งเป็นผลรายงานของการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารต่างชาติที่ประกอบธุรกิจในภูมิภาคนี้

 

ระบบศาลยุติธรรมเป็นจุดอ่อนที่สุดและเป็นสถาบันที่มีข้อโต้แย้งมากที่สุดของอินโดนีเซีย และคนจำนวนมากก็คิดว่าการที่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้เป็นปัญหาอันดับที่หนึ่งของประเทศ เป็นคำกล่าวในรายงานของ Political and Economic Risk Counsultancy หรือ PERC

 

คำวินิจฉัยของศาลในอินโดเนเชียบางเรื่องเป็นเรื่องที่ สร้างข้อโต้แย้งมากจนกระทั่งส่งผลร้ายต่อความมั่นใจของนักลงทุนต่างประเทศ PERC ได้ระบุในรายงานโดยไม่ได้ระบุรายละเอียดของคดี

 

ในรายงานการสำรวจของ PERC กระบวนการยุติธรรมของฮ่องกงได้คะแนนเสียงสูงสุดด้วยคะแนน 1.45 โดยคะแนน 0 เท่ากับที่ดีที่สุด และ 10 เท่ากับแย่ที่สุด

 

คู่แข่งในภูมิภาคอย่างสิงคโปร์ตามมาเป็นที่สองด้วยคะแนน 1.92 ตามด้วยญี่ปุ่น (3.50) เกาหลีใต้ (4.62) ไต้หวัน (4.93) ฟิลิปปินส์ (6.10)

 

มาเลเซียได้ที่ 7 ด้วยคะแนน 6.74 ตามด้วยอินเดีย (6.50) ไทย (7.0) และจีน (7.25) อินโดเนเชียได้คะแนนต่ำที่สุดคือ 8.26 โดยเวียดนามได้รองบ๊วยด้วยคะแนน 8.10

 

บริษัทที่ปรึกษาซึ่งตั้งอยู่ที่ฮ่องกงบอกว่าได้ทำการสอบถามผู้บริหารเอกชนระดับสูงรวม 1,537 คนที่ทำงานอยู่ในทวีปเอเชียและขอให้พวกเขาให้คะแนนกระบวนการยุติธรรมในประเทศที่พวกเขาพักอาศัยโดยใช้ตัวแปรต่าง ๆ ประกอบด้วย เช่น การคุ้มครองในทรัพย์สินทางปัญญาและการคอร์รัปชั่น

 

นอกจากนี้ยังขอให้พิจารณาประเด็นเรื่องความโปร่งใส การบังคับใช้กฎหมาย ความเป็นอิสระจากการแทรกแซงทางการเมืองและประสบการณ์และมาตรฐานการศึกษาของทนายและผู้พิพากษาประกอบด้วย

 

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การสำรวจทัศนคติได้แสดงผลว่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างมากระหว่างปัจจัยว่าผู้บริหารต่างชาติประเมินกระบวนการยุติธรรมอย่างไร และปัจจัยที่ว่าพวกเขาประเมินความเปิดกว้างในทางเศรษฐกิจของประเทศนั้น ๆ อย่างไร PERC กล่าว

 

กระบวนการยุติธรรมที่ดีกว่ามีความเชื่อมโยงกับการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การคอร์รัปชั่นที่ลดลงและเศรษฐกิจที่มีความมั่งคั่งมากกว่า

 

ทัศนคติที่เป็นไปในเชิงลบต่อกระบวนการยุติธรรมของจีนและเวียดนามมาจากการที่ระบบของสองประเทศนี้ถูกแทรกแซงทางการเมือง รายงานของ PERC กล่าวและเสริมว่าพรรคคอมมิวนิสต์ อยู่เหนือกฎหมายในทั้งสองประเทศ

 

แม้ว่าอินเดียและฟิลิปปินส์ต่างก็เป็นประเทศในระบอบประชาธิปไตย ผู้บริหารต่างชาติกลับไม่ได้มีทัศนคติที่ดีต่อสองประเทศนี้เพราะปัญหาเรื่องการคอร์รัปชั่น PERC เสริม

 

กระบวนการยุติธรรมของมาเลเซียได้รับผลจาก การเสื่อมเสียชื่อเสียงเพราะการถูกแทรกแซงทางการเมือง ในขณะที่ผู้บริหารต่างชาติที่อยู่ในไทยต่างก็ มีความสงสัยอย่างจริงจัง ว่าการที่เพิ่มอำนาจให้ตุลาการจะเป็นสิ่งที่ดีต่อประเทศจริงหรือไม่ รายงานดังกล่าวเสนอ

 

PERC ตั้งข้อสังเกตว่าการสำรวจความเห็นนี้เป็นการสำรวจความเห็นของผู้บริหารองค์กรธุรกิจไม่ใช่กลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมทางการเมือง ดังนั้นจึงมีการให้ความสำคัญมากกว่าในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายเรื่องสัญญา การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ความเอนเอียงจะเห็นชัดเจนมากในกรณีของสิงคโปร์ รายงานระบุโดยยอมรับว่าคะแนนที่สูงมากของสิงคโปร์ไม่ได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้ทำกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งได้วิพากษ์วิจารณ์พรรครัฐบาลว่าแทรกแซงตุลาการเพื่อการยุติเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ในสิงคโปร์ ทัศนคติโดยทั่วไปของผู้บริหารต่างชาติก็คือการเมืองท้องถิ่นไม่ได้ลดหรือมีผลกระทบต่อการบังคับใช้กฎหมายพาณิชย์และกฎหมายอาญา รายงานของ PERC ระบุ

 

September 14, 2008

บทความสั้นๆน่าอ่านของอาจารย์ใจ จากเอเชียเซนติเนล

Posted in Uncategorized at 8:27 am by freethai

คำแปลบทความจากนิตยสารเอเชียเซนติเนล วันที่ 10 กันยายน 2008

การปรุงอาหารที่ไร้สาระในประเทศไทย โดยอาจารย์ ใจ อึ้งภากรณ์

ศาลไทยสั่งปลดนายกรัฐมนตรีด้วยความผิดที่ไปจัดทำรายการอาหารโชว์

วิกฤตการณ์การเมืองไทยกลับกลายเป็นเรื่องน่าหัวเราะเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาเมื่อศาลได้ตัดสินว่านายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีต้องออกจากตำแหน่งเพราะเขาไปปรากฏในรายการทำอาหารทางโทรทัศน์  แทนที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องราวที่มีสาระเช่น ความถูกต้องชอบธรรมของกระบวรการประชาธิปไตย การฆ่ากันตามท้องถนนระหว่างคนไทยสองฝ่ายที่มีความคิดที่ตรงกันข้ามกัน หรือพยายามแสวงหาวิถีทางที่เป็นประชาธิปไตยและสันติวิธีในการแก้ไขวิกฤต  ศาลไทยกับเลือกที่จะเข้าร่วมในกระบวนการปาหี่ทางการเมืองซึ่งกำลังแสดงอยู่

ศาลยึดมั่นตามตัวอักษรแต่กลับละเลยเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฏหมาย จึงได้มีคำสั่งให้นายสมัครต้องพ้นจากตำแหน่ง  พรรคการเมืองของสมัครสามารถเสนอชื่อเขาเข้ารับตำแหน่งได้อีกครั้งหนึ่ง  วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของกฏหมายคือการพยายามลดบทบาทและอิทธิพลของธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีต่อรัฐบาล กฏหมายไม่ได้ตั้งใจจะมีไว้เพื่อกรณีแบบรายการทำอาหารเช่นนี้  บรรดาผู้ที่มีความเชื่อว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริ์ยเป็นประมุขและทรงมี พระราชอำนาจและความเป็นศูนย์กลางแห่งความมั่นคง อาจกำลังคิด (ซึ่งเป็นเรื่องที่มีเหตุผลสมคสรที่จะคิดเช่นนั้น) ว่าทำไมพระองค์จึงไม่เข้ามาแทรกแซงเพื่อนำมาซึ่งความสงบและทางอกกที่เป็นประชาธิปไตย  คนอื่นๆอาจมีคำตอบแล้ว

บรรดานักวิจารณ์ตามเวบไซด์ต่างๆพากันเยาะเย้ยว่านี่อาจเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งของการโปรโมทการทำอาหารไทย และร้านอาหารไทย  แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ผลที่ตามมามันค่อนข้างจะเลวร้าย   ไม่ว่าผลลัพธ์ของการต่อสู้ระหว่างชนชั้นสูงครั้งนี้จะเป็นอย่างไร ผู้ที่ได้รับเคราะห์กรรมก็คือระบอบประชาธิปไตยและบรรดาคนยากจน  กลุ่มฟาสซิสต์ที่ต่อต้านรัฐบาลที่เรียกตัวเองว่า พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อรณรงค์สร้างระบบการเมืองใหม่แบบอำนาจนิยม โดยกระตุ้นให้มีการใช้กไลังรุนแรงและเรียกร้องการรัฐประหาร  หลังจากที่คนพวกนี้หมดความหมายแล้ว อาจถูกผลักดันไปอยู่อีกด้านหนึ่ง เมื่อกองทัพและบรรข้าราชการชั้นสูงกลับมามีอำนาจ

มีเสียงเรียกร้องให้มีทางเลือกทางการเมืองทางอื่น ที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตย ความเป็นธรรมทางสังคม และการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม  เราต้องการรัฐสวัสดิการที่ใช้เงินภาษีของคนรวยมาเป็นตัวขับเคลื่อน  สิ่งเหล่านี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อบรรดาผู้ที่อยู่ในกลุ่มการเคลื่อนไหวของประชาชนและต้องการเป็นอิสสระจากบรรดาชนชั้นนำทั้งสองฝ่ายจะลุกขึ้นยืนหยัด และเริ่มลงมือดำเนินการ

http://www.asiasentinel.com/index2.php?option=com_content&task=view&id=1427&pop=1&page=0&Itemid=31

September 12, 2008

คำแปลจากนิวยอร์คไทมส์

Posted in Uncategorized at 11:03 am by freethai

นิวยอร์คไทมส์, 11 กันยายน 2008, วิกฤตของไทยนำไปสู่การต่อรองทางการเมือง

 

กรุงเทพ, การเมืองของไทยเผชิญกับการต่อรองอำนาจอย่างรุนแรงเมื่อวันพุธที่ผ่านมา หลังจากที่นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวช ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดและสั่งปลดจากตำแหน่งหลังจากที่เขาได้รับเงินจากการแสดงการทำอาหารในรายการโทรทัศน์

 

พรรคการเมืองของสมัครประกาศในทันทีทันใดว่าจะยังคงเสนอชื่อเขาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อมีการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในวันศุกร์นี้ แต่เสียงสนับสนุนของเขาลดลงและมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นมาจากทั้งภายในและภายนอกพรรคร่วมรัฐบาล

 

ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม ไม่มีสัญญาณว่าการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่กำลังสร้างความเสียหายอยู่ทั่วไปจะลดลง โดยการประท้วงดังกล่าวได้ลุกลามไปยังกลุ่มนักศึกษาและสหภาพแรงงานด้วย

 

การประท้วงครั้งนี้เป็นมากกว่าการประท้วงรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะเป็นการประท้วงที่มีรากฐานมาจากการแตกแยกทางสังคมและการเมืองที่ร้าวลึกและรุนแรงขึ้นตลอดเวลาสามปีที่ผ่านมาและส่งผลคุกคามต่อเสถียรภาพของประเทศไทย

 

กลุ่มผู้ประท้วงที่ตอนนี้ไปปักหลักอยู่ในทำเนียบรัฐบาลเป็นตัวแทนอันล่าสุดของความขัดแย้งที่มีมาโดยตลอดระหว่างแนวคิดที่นิยมประชาธิปไตยและกลุ่มชนชั้นสูงหัวโบราณในสังคมที่รู้สึกว่าตัวเองเสียผลประโยชน์เพราะการที่ประเทศเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย

 

ครั้งนี้ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร นักวิเคราะห์บอกว่าสิ่งที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือระบอบประชาธิปไตยของไทยนั่นเอง

 

รัฐบาลของสมัครชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วและอ้างว่าเขาเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นแค่การต่อขยายของระบอบเผด็จการโดยรัฐสภาของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ที่ได้ทำให้ระบอบการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของไทยอ่อนแอลงตลอดเวลา 5 ปีที่เขาอยู่ในอำนาจ

 

ทักษิณพ้นจากตำแหน่งเพราะการทำรัฐประหารเมื่อปี 2549 และบัดนี้เขาพำนักอยู่ในลอนดอน โดยเขาอยู่ระหว่างการขอลี้ภัยทางการเมืองเพื่อหลบเลี่ยงข้อกล่าวหาเรื่องทุจริต โดยทักษิณอ้างว่าบรรดาข้อกล่าวหาทั้งหมดเป็นเรื่องที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง แม้ว่าเขาจะลี้ภัยอยู่ต่างแดน บุคลิกภาพและเงินทุนของเขายังทรงอิทธิพลในประเทศไทย และความโกรธแค้นของบรรดาผู้ประท้วงส่วนใหญ่ก็มุ่งไปที่เขา

 

บรรดาผู้ประท้วงเรียกตัวเองว่ากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือ PAD แต่ความจริงแล้วพวกเขากำลังเรียกร้องให้นำประเทศถอยหลังกลับไปนับร้อยปี โดยอ้างว่าประเทศไทย ยังไม่พร้อมสำหรับระบอบประชาธิปไตย กลุ่มผู้ประท้วงต้องการให้ยกเลิกการมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งแล้วใช้วิธีการแต่งตั้งแทน ซึ่งด้วยวิธีการนี้ การปกครองประเทศก็จะควบคุมโดยชนชั้นสูง ซึ่งจะเหมือนกับที่สังคมไทยเคยเป็นในสมัยโบราณ

 

กลุ่มพันธมิตรเป็นพวกนิยมศักดินาที่แบ่งชนชั้นทางสังคมอย่างฝังลึก ธงชัย วินิจกุล ศาสตราจารย์วิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ให้สัมภาษณ์ โดยสรุปก็คือพันธมิตรฯไม่ไว้วางใจประชาชน

 

เขาเสริมว่า แนวความคิดแบบนี้มีมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19 เมื่อรัชกาลที่ 5 บอกว่าคนไทยไม่ต้องการประชาธิปไตย คนไทยมีความไว้วางใจในพระเจ้าแผ่นดิน

 

ตลอดเวลาที่ผ่านมา แนวคิดแบบนี้ก็ยังคงมีอยู่ธงชัยกล่าว ที่ว่าประชาชนไม่พร้อม

 

การประท้วงเริ่มต้นเมื่อปลายปี 2005 ในรูปของกระบวนการต่อต้านทักษิณซึ่งมีผลเป็นการเปิดทางให้มีการทำรัฐประหารให้ทักษิณพ้นจากตำแหน่งเมื่อ 2 ปีที่แล้ว กลุ่มพันธมิตรฯ รวมตัวกันอีกครั้งในเดือนพฤษภาคมภายหลังจากที่รัฐบาลที่สนับสนุนทักษิณเข้ารับตำแหน่งและสถานการณ์เลวร้ายขึ้น เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อมีการใช้กำลังบุกเข้ายึดที่ตั้งที่ทำการของนายกรัฐมนตรี

 

โดยทั่วไปแล้วการประท้วงไม่ได้ใช้ความรุนแรงและทหารก็สัญญาว่าจะไม่ใช้กำลังสลายการชุมนุมแม้ภายหลังที่นายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวชประกาศสภาวะฉุกเฉินเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

 

ในบทบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์มติชนเมื่อวันพุธได้มีการเตือนว่าถ้าสมัครกลับเข้ารับตำแหน่งอีกครั้งอาจก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจครั้งใหม่ที่รุนแรงขั้น การเลือกสมัครกลับเข้ามาจะมีแต่ทำให้รอยร้าวของสังคมรุนแรงขึ้นและอาจนำประเทศไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดการนองเลือด

 

กลุ่มผู้ประท้วงประกอบไปด้วยชนชั้นสูงที่จงรักภักดีในสถาบันกษัตริย์ นายพลและนักธุรกิจโดยมีบางส่วนที่เป็นพวกนิยมเสรีประชาธิปไตย นักศึกษาและสหภาพ บางส่วนมารวมตัวกันเพียงเพราะต่อต้านทักษิณเท่านั้น

 

หัวใจสำคัญของแนวคิดของกลุ่มพันธมิตรฯ จะทำให้ประเทศไทยพ้นจากการเป็นประชาธิปไตย และทำให้ประเทศไทยสูญเสียหลักการของสิทธิเสมอภาพที่คนทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน ประจักษ์ คงกีรติ นักรัฐศาสตร์แนวหน้าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สัมภาษณ์

 

ชนชั้นสูงจำนวนมากไม่เชื่อในสิ่งนั้น [ประชาธิปไตย/สิทธิเสมอภาค]” เขาบอก เราเป็นสังคมศักดินาที่แบ่งชนชั้นอย่างชัดเจน

 

แนวคิดของกลุ่มพันธมิตรฯ จะนำพาประเทศไทยถอยหลังไปอย่างน้อย 20 ปี กับแนวคิด กึ่งประชาธิปไตยที่บรรดาข้าราชการและกองทัพจะมีบทบาทในการเมืองและบรรดานักธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วม ผ่านกระบวนการแต่งตั้งสมาชิกสภา อ.ประจักษ์บอกโครงสร้างทางการเมืองแบบนี้ จะทำให้เกิดช่องว่างที่สำคัญและแตกต่างกันอย่างมากระหว่างกลุ่มผู้มีอันจะกินและกลุ่มคนยากจน

 

อาจกล่าวได้ว่าทุกรัฐบาลมีนโยบายที่มุ่งจะเอื้อประโยชน์ให้สังคมเมือง อ.ประจักษ์บอก ดังนั้นเวลาที่มีการเลือกตั้ง พวกเขาจะหาเสียงกับคนจนในชนบท แต่เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วก็จะจัดทำนโยบายที่ให้ประโยชน์แก่คนในเมืองและกลุ่มอุตสาหกรรม ในขณะที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วยความก้าวหน้าตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ผลพวงของความเจริญก้าวหน้าและระบบโลกาภิวัตน์ไม่ได้ตกไปถึงนอกเขตกรุงเทพ ซึ่งยังทำให้ความแตกต่างทางเศรษฐกิจของชนชั้นเพิ่มมากขึ้น

 

ทักษิณวางนโยบายที่ให้ความสำคัญกับคนจนโดยใช้นโยบายประชานิยม เช่น การรักษาพยาบาลราคาถูกและการปลดหนี้ คนจนที่ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจึงพบว่าตัวเองได้รับประโยชน์จากการที่ลงคะแนนเสียงให้ทักษิณ ส่งผลให้พรรคการเมืองของทักษิณชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายจนสร้างความหวาดกลัวให้กับสถาบันต่าง ๆ ที่มีพื้นฐานอยู่ที่คนในเมือง

 

และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่กลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลพบว่าระบอบประชาธิปไตยไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้แก่พวกเขาเหมือนเมื่อก่อน จึงทำให้พวกเขาต้องเริ่มแสวงหาอำนาจรัฐด้วยวิธีอื่น

 

กระบวนการต่อต้านรัฐบาลนี้เป็น เป็นการตอบโต้ของพวกที่ไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาคริส เบเกอร์ นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษและผู้เขียนหนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับประเทศไทยบอกเรา

 

คริสบอกว่า สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะสูญหายไปจากการถกเถียงของสังคมไทยในทุกวันนี้ คือพลังแห่งผู้นิยมเสรีประชาธิปไตยที่เป็นแรงผลักดันสำคัญของระบอบประชาธิปไตยตลอดศตวรรษที่ผ่านมา ความแตกต่างที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็คือกระบวนการประท้วงรัฐบาลไม่ได้มุ่งสร้างเสริมประชาธิปไตยแต่กลับต้องการยกเลิกประชาธิปไตย

 

เราเคยพร่ำสวดถึงการเลือกตั้งอยู่ตลอดเวลา สนธิ ลิ้มทองกุล นักหนังสือพิมพ์ผู้เป็นหนึ่งในผู้นำการประท้วงบอก

 

แต่ขณะนี้การเลือกตั้งของไทยนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ไม่มีคุณภาพ

 

ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชจนถึงปี 2475 แต่ประชาธิปไตยของไทยก็พบกับภาวะขึ้น ๆ ลง ๆ ตลอดมาโดยเผชิญกับการทำรัฐประหาร 18 ครั้ง และมีรัฐธรรมนูญถึง 18 ฉบับ

 

รัฐบาลมักมาจากพรรคการเมืองหลาย ๆ พรรคที่รวมตัวกันอย่างไม่มีเสถียรภาพ จนกระทั่งทักษิณเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงข้างมากถึง 5 ปี และก่อนหน้าทักษิณก็ไม่เคยมีพรรคการเมืองใดหรือนายกฯคนใดชนะการเลือกตั้งสองครั้งติดต่อกัน

 

ในขณะที่มีการเผชิญหน้ากันต่อไปเรื่อย ๆ คำถามที่สำคัญก็คือกองทัพจะทำการรัฐประหารอีกครั้งหรือไม่ เพื่อที่จะอ้างว่าทำไปเพื่อรักษาความสงบ แม้ว่าผู้บัญชาการทหารบกพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดาจะบอกว่าจะไม่มีการทำรัฐประหารก็ตาม

 

ถ้าสถานการณ์มีความตึงเครียดถึงขั้นวิกฤตคนไทยจำนวนมากหวังว่าพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจะเข้ามาแทรกแซงเหมือนที่เคยทรงทำมาหลายครั้งตลอดหลายปีที่ผ่านมาเพื่อลดความขัดแย้ง พระเจ้าแผ่นดินทรงอยู่เหนือข้อขัดแย้งทางการเมือง แต่ทรงเป็นที่เคารพรักอย่างมากและพระดำรัสของพระองค์ก็เป็นเสมือนที่พึ่งสุดท้ายสำหรับประเทศที่ยังหาจุดยืนทางการเมืองไม่พบ

 

บุคลิกภาพของพระองค์เป็นศูนย์รวมของสังคมไทยและเป็นศูนย์กลางของความเป็นไทย คงไม่มีทายาทองค์ใดที่จะสืบทอดความทุ่มเทและอิทธิพลเชิงจริยธรรมที่พระองค์ได้สร้างไว้ตลอด 62 ปี ที่ครองราชย์

 

พระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระชนม์มายุกว่า 80 ชันษาและมีพระพลานามัยไม่แข็งแรง และสิ่งหนึ่งที่คุกคามการเมืองไทยก็คืออะไรจะเกิดขึ้นหากสิ้นพระองค์แล้ว

http://www.nytimes.com/2008/09/11/world/asia/11thai.html?_r=2&sq=thailand&st=cse&oref=slogin&scp=4&pagewanted=print&oref=slogin

 

September 8, 2008

คำแปลบทความจากนิวสวีคเรื่องนโยบายเศรษฐกิจทักษิณ

Posted in Uncategorized at 10:49 am by freethai

ใครจะชอบหรือไม่ชอบทักษิณ ผมเชื่อว่าต่างคนต่างมีเหตุผลของตัวเอง และไม่มีใครมีสิทธิไปตำหนิใครว่าโง่หรือฉลาด

คนทุกคนมีสิทธิที่จะคิด มีสิทธิที่จะเชื่อ

ผมเองเชื่อว่าไม่มีใครในโลกนี้ที่เลวไปทุกเรื่องหรือว่าดีไปทุกอย่าง

โลกที่มีแต่สีขาวกับสีดำ ถ้าไม่ใช่โลกของเด็กอมมือ ก็เป็นโลกของคนตอแหลปลิ้นปล้อน

ผมชอบนโยบายเศรษฐกิจของทักษิณ และคิดว่าบทความนี้น่าสนใจครับ

บทความจากนิตยสารนิวสวีค

ผู้นำที่ส่องแสง: บรรดาปัญญาชนเยาะเย้ยดูแคลนทักษิณ แต่นโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมของเขากำลังแพร่ขยายทั่วทวีปเอเชีย แม้เมื่อเขาหมดอำนาจแล้ว

ในทางการเมือง ทักษิณ ชินวัตรไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าซากของพลังที่ถูกใช้งานจนหมดแล้ว  เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้ว อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยต้องแอบเดินทางไปอยู่ที่อังกฤษเพื่อความปลอดภัยของชีวิตของเขาเอง ซึ่งเป็นการยุติความคาดหวังชัยชนะทางการเมืองภายหลังการเดินทางกลับสู่ประเทศไทยอย่างยิ่งใหญ่ของเขาภายหลังจากการต้องลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา  ทักษิณให้เหตุผลถึงการเดินทางไปอยู่ที่อังกฤษว่า บรรดากระบวนการสืบสวนข้อกล่าวหาว่าเขาคอร์รัปชั่น และเรื่องอื่นๆที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น “เป็นไปอย่างมีอคติเพื่อกำจัดผมและครอบครัว”   การเดินทางลี้ภัยแบบกระทันหันของอภิมหาเศรษฐีผู้สร้างความมั่งคั่งขึ้นมาด้วยตัวเองไก้กระตุ้นให้เกิดการโต้เถียงกันว่า บรรดาข้อกล่าวหาที่มีต่อเขานั้นมีความถูกต้อง ชอบธรรมเพียงใด รวมทั้งประเด็นที่ว่า รัฐบาลไทยควรดำเนินการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ และอนาคตทางการเมืองของพรรคที่จงรักภักดีต่อเขาจะเป็นอย่างไร

แต่กระนั้นก็ตาม แทบไม่มีใครพูดถึงความยิ่งใหญ่ที่จะยั่งยืนนานของทักษิณ  นั่นก็คือ นโยบายเศรษฐกิจจากรากหญ้าขึ้นสู่ระดับบนซึ่งได้รับการตอบสนองด้วยดีจากประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลก  ในกระบวนการที่อาจถือว่าเป็นการโฆษณาตัวเองแบบมากเกินไปของทักษิณ ชินวัตร เขาเรียกนโยบายเศรษฐกิจนั้นว่าเป็น “ทักษิโณมิคส์”  โดยใช้นโยบายนี้ในฐานะที่เป็นแผนการที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงสนับสนุนเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจนในชนบทให้พ้นจากความยากจน  เมื่อเขาชนะการเลือกตั้งในปี 2001 เขาเริ่มนำนโยบายเศรษฐกิจนี้มาปฏิบัติทันที และความคิดริเริ่มของทักษิณก็สร้างผลดีอย่างรวดเร็ว ช่วยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศไทยต้องทนรับจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งช่วงปี 1997-1998 และทักษิณทำให้การพัฒนาเศรษญกิจของไทยอย่างรวดเร็วกลายเป็นเรื่องที่น่าอิจฉาของประเทศอื่นๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ทุกวันนี้ ทั่วทวีปเอเชีย ได้มีการนำนโยบายที่ลอกเลียนแบบนโยบายเศรษฐกิจของทักษิณไปใช้อย่างแพร่หลายเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ประเทศไทยเคยเผชิญมาแล้ว และกำลังเป็นปัญหาที่ทั้งทวีปกำลังเผชิญ คือการที่พึ่งพาการส่งออกมากเกินไป การพัฒนาที่ไม่เสมอภาคระหว่างกลุ่มชนในเมืองที่มั่งคั่งและคนจนในชนบท

บรรดานักวิจารณ์พากันคร่ำครวญว่านโยบายของทักษิณเป็นประชานิยมแบบดินพอกหางหมู แต่ข้อสงสัยที่ตั้งต้นไว้กลับถูกล้มล้างด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าการปลอดหารชำระหนี้เกษตรกร และเงินกู้กองทุนหมู่บ้านกลับส่งผลเป็นตัวจักรในการสนับสนุนการผลิตและการให้บริการในระดับรากหญ้า และยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาหลักประกันพื้นฐานของสวัสดิการสังคมด้วยโครงการประกันสุขภาพราคาถูก  และการกระตุ้นให้ครัวเรือนเก็บออมน้อยลง และใช้เงินมากขึ้น  ทักษิณเรียกโครงการนี้ว่าเป็นการพัฒนาแบบ “คู่ขนาน” คือการพัฒนาตลาดในประเทศให้ขยายตัว และก็ส่งเสริมการส่งออกไปในเวลาเดียวกัน และมันก็ได้ผล

แน่นอนที่หนี้สินภาคสาธารณะจะเพิ่มขึ้น แต่ปัญหานี้ก็ได้รับการแก้ไขด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเก็บภาษีได้มากขึ้น  เศรษฐกิจของไทยขยายตัวในอัตราหกเปอร์เซนต์ต่อปีถึงหกปีติดต่อกัน  การพึ่งพาเงินทุนต่างประเทศและการส่งออกลดลง และช่องว่างรายได้ของคนรวยและคนจนในประเทศลดลงในเวลาที่ช่องว่างระหว่างคนรวย และคนจนในที่อื่นๆทั่วทั้งเอเชียมีแต่กว้างขึ้น

แนวคิดของทักษิณ ชินวัตรที่ว่า  การเปิดโอกาศให้คนจนเข้าถึงแหล่งเงินทุน การจ้างงานและสวัสดิดารสังคมพื้นฐานจะช่วยปรับเปลี่ยนภูมภาคที่ด้อยพัฒนาให้กลายเป็นเครื่องจักรของการเจริญเติบโต  กลายเป็นปรัชญาความคิดที่ได้รับการยอมรับไปทั่ว

ประธานาธิบดี ซูซิโล บัมบังแห่งอินโดเนเชียได้นำนโยบายเศรษฐกิจของทักษิณไปใช้ในการช่วยเหลือครัวเรือนที่ยากจนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุดจากการหยุดการช่วยเหลือด้านราคาน้ำมัน ประธานาธิบดี มานโมฮัน ซิงห์แห่งอินเดียก็นำนโยบายเศรษฐกิจของทักษิณไปใช้ และช่วยให้เกิดการสร้างงานหลายล้านตำแหน่งในเขตชนบท โดยเขาประกาศนโยบายเศรษฐกิจที่แทบจะเป็นการสะท้อนนโยบายของทักษิณทุกอย่าง

ในฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดี กลอเรีย มาคาปากัล อาโรโย่ ได้ประกาศว่า “ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่เชื่อมั่นอย่างแน่วแน่ในนโยบายทักษิโณมิคส์”   และตั้งแต่ปี 2006 เมื่อรัฐบาลกลางของจีนประกาศนโยบายชุดใหญ่ที่จะผันการลงทุนของรัฐเพื่อสร้าง “ชนบทสังคมนิยมแนวใหม่”เพื่อพัฒนาดินแดนชั้นในของจีนแผ่นดินใหญ่  รัฐบาลแห่งกรุงปักกิ่งได้ยกเลิกการเก็บภาษีการทำนา จัดสรรงบประมาณจำนวนมหาศาลให้หน่วยงานในชนบทและดำเนินมาตรการต่างๆเพื่อฟื้นฟูชนบทที่ยากจนในเขตที่ห่างไกล (มีรายงานข่าวว่ารัฐบาลจีนได้ส่งทีมมายังประเทศไทยเพื่อศึกษานโยบายทักษิโณมิคส์ตั้งแต่ปี 2003)

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้นำจีนได้ประกาศย้ำความสำคัญของนโยบายที่ประธานาธิบดีหู จินเป่า ประกาศว่าเป็นการเจริญเติบโต “อย่างสอดคล้องกัน” และในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาทั้งนักวิเคราะห์ชาวจีนและต่างประเทศต่างชี้แนะว่า ในเร็วๆนี้ รัฐบาลจีนน่าจะประกาศใช้แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งเป้าหมายของการพัฒนาไปที่กลุ่มทางเศรษฐกิจที่ด้อยโอกาศ

ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะผู้นำของภูมิภาคเอเชียผู้บุกเบิกการพัฒนาแบบ “คู่ขนาน” หรือ Dual Track  เขาควรจะได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักคิด นักวางแผนทางเศรษฐกิจชั้นนำของโลกถ้าไม่เกิดเหตุการณ์ชุลมุนทางการเมืองขึ้น  ช่วงปลายปี 2005 เขาขายหุ้นในกิจการโทรคมนาคมของครอบครัวให้แก่บริษัทที่ทำหน้าที่ด้านการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ เป็นเงินมูลค่าสูงถึง หนึ่งพันเก้าร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐโดยไม่เสียภาษี   การขายหุ้นครั้งนั้นดูจะเป็นการก้าวล้ำไปเกินกว่าที่วัฒนธรรมการเมืองกึ่งอาณานิคมของไทยจะเข้าใจและเปิดใจยอมรับ  ผลที่ตามมาก็คือกลุ่มชนชั้นสูงที่เชื่อมกับนักธุรกิจหัวเก่า พรรคการเมืองฝ่ายค้านและส่วนหนึ่งของกองทัพ ได้เรียกร้องให้เขาลาออกและเริ่มรณรงค์การประท้วงอย่างยาวนานตามท้องถนนจนทำให้กรุงเทพตกอยู่ในภาวะชะงักงันเป็นเวลานานหลายเดือน

ในวันที่ 19 เดือนกันยายน ปี 2006 กองทัพได้ทำการรัฐประหารเป็นครั้งที่สิบสามนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยในเวลานั้น ทักษิณอยู่ที่นิวยอร์คเพื่อกล่าวปราศรัยที่องค์การสหประชาชาติ

ฬนตอนแรก คณะรัฐประหารพยายามยกเลิกนโยบาย “ทักษิโณมิคส์” เพื่อส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงเชิงพุทธ แต่กระแสต่อต้านจากประชาชนรุนแรงและรวดเร็วมากจนรัฐบาลทหารต้องกลับลำนโยบายและหันมาส่งเสริมนโยบายของทักษิณ แม้แต่เดิมที่เก็บเงินค่ารักษาพยาบาลสามสิบบาทก็ยกเลิกเปลี่ยนเป็นให้การรักษาฟรีแทน   รัฐบาลใหม่ของไทยก็เดินตามแนวนโยบายของทักษิณ ตั้งแต่การลดภาษีน้ำมันเชื้อเพลิง การให้ครอบครัวคนจนใช้ไฟฟ้าและน้ำปะปาฟรี การจัดรถเมล์และรถไฟให้คนจนใช้ฟรี นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศว่านโยบายนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยให้ขยายตัวได้ถึงร้อยละหกต่อปี และยังสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวคนจนได้โดยเฉลี่ยถึงปีละสามร้อยห้าสิบดอลลาร์ (ประมาณหนึ่งหมื่นหนึ่งพันบาทต่อปี)   “ฬครก็ตามที่นำนโยบายแบบนี้มาใช้จะได้คะแนนเสียงจากประชาชน และใครก็ตามที่ดึงเอาประโยชน์เหล่านี้ไปจากประชาชนจะแพ้การเลือกตั้ง” เป็นคำกล่าวของนิตินัย สิริสมรรถการ นักเศรษญศาสตร์อิสสระ

วิกฤตใหม่การเมืองไทยเพราะพวกนิยมเจ้าและขุนนาง

Posted in Uncategorized at 6:38 am by freethai

บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ วันที่ 6 กันยายน 2008

วิกฤตใหม่ของประเทศไทย: เมื่อฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่อ้างว่าทำเพื่อประชาธิปไตยได้ประสพความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยมในการทำลายประชาธิปไตยของไทย

ข่าวดีเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยก็คือ ในขณะที่จำนวนของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งได้เพิ่มมากขึ้น และหยั่งรากลึกไปในประเทศต่างๆทั่วโลกตลอดระยะเวลาสองทศวรรษที่ผ่านมา คนยากจนและคนพื้นเมืองส่วนน้อยที่ถูกละเลยในหลายๆประเทศเริ่มมีอำนาจมากขึ้น  ในประเทศอย่างบราซิล อินโดเนเชียและเมกซิโก รัฐบาลได้หันมายอมรับนโยบายที่ให้ความช่วยเหลือกับชนกลุ่มนี้มากขึ้น และมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชาชนเหล่านี้ก็ดีขึ้น

แต่ข้อเสียก็คือการขยายตัวของระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยแบบนี้ในบางประเทศ ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องของวัฒนธรรม หรือมาตรฐานทางชนชั้น ซึ่งที่ผ่านมาได้บดบังเสรีภาพของประชาชน  ในบางประเทศเช่น เวเนซูเอลา และโบลิเวีย ผู้ใช้นโยบายประชานิยมเพื่อช่วยเหลือคนจนหรือคนพื้นเมืองที่ด้อยโอกาศที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทส สามารถชนะการเลือกตั้งได้  หลังจากนั้น ก็มีการใช้อำนาจเพื่อสร้างอำนาจให้กลุ่มของตนและกำจัดการแข่งขันจากกลุ่มชนชั้นสูงหัวเก่า  เรามีความเห็นมากมายว่า ฮิวโก้ ชาเวซแห่งเวเนซูเอลา และ อีโว โมราเลสแห่งโบลิเวียได้สร้างความเสียหายให้กับประเทศของพวกเขามากน้อยแค่ไหน

แต่อันตรายที่คู่ขนานกันไปก็มาจากกลุ่มชนชั้นสูงที่ตอบโต้การแสวงหาสิทธิและอำนาจทางการเมืองของชนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่มนอดีตที่ผ่านมาถูกกีดกันจากอำนาจทางการเมือง โดยใช้วิธีการตรวจสอบความเป็นประชาธิปไตยที่คนส่วนใหญ่ของประเทศค่องการ  และนั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในตุรกี เมื่อกลุ่มอำนาจชั้นสูงที่ครองอำนาจมานาน ได้พยายามใช้ทั้งกำลังทหารและผู้พิพากษาในการยกเลิกและไม่ยอมรับชัยชนะจากการเลือกตั้งที่พรรคอิสลามิค เอเค ได้รับคะแนนเสียง  และเรื่องราวที่มีความคล้ายคลึงกันอย่างมากก็กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยซึ่ง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศต้องประสพภาวะชะงักงันเพราะวิกฤตทางการเมืองเป็นครั้งที่สอง ภายในเวลาไม่ถึงสองปี

ศูนย์กลางของความขัดแย้งของประเทศไทยเป็นผลมาจาก กระบวนการทางการเมืองที่เริ่มต้นด้วยอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร อดีตอภิมหาเศรษฐี ที่หันมาเป็นนักการเมืองผู้ได้รับความนิยมจากประชาชน เขาชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายถึงสองครั้งเพราะนโยบายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อช่วยเหลือคนยากจนในชนบท  ถ้ากล่าวแบบกว้างๆ ทักษิณ สามารถสร้างผลงานได้ตามนโยบายที่เสนอไว้ตอนหาเสียง ไม่ว่าจะเป็นโครงการประกันสุขภาพราคาถูก โครงการสินเชื่อสำหรับชาวนา  แต่ในเวลาเดียวกัน เขาก็ใช้อำนาจโดยไม่ชอบ เข้มงวดกับสื่อมวลชน และปล่อยให้กองทัพและตำรวจทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน เมื่อสองปีที่แล้ว มีขบวนการต่อต้านทักษิณที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองเก่าแก่โดยอ้างว่าเป็นกระบวนการเพื่อปกป้องประชาธิปไตย กรุงเทพต้องเป็นอัมพาตเพราะการประท้วง และในที่สุด การประท้วงก็นำไปสู่การรัฐประหาร  และเป็นไปตามที่คาด  บรรดานายพลทั้งหลายก็พบว่าพวกเขาไม่มีปัญญาที่จะบริหารประเทศ และเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ต้องยอมให้มีการเลือกตั้ง และก็เป็นไปดังที่คาดการณ์กัน พรรคการเมืองของทักษิณที่มีการเปลี่ยนชื่อใหม่ และมีผู้นำพรรคคนใหม่ ชนะการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง

และก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ชนชั้นสูงที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพได้พยายามจะล้มรัฐบาลโดยการใช้กำลัง  คนนับพันเข้าไปยึดที่ทำการรัฐบาล ก่อการปะทะอย่างรุนแรงอันส่งผลให้นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ต้องประกาศสภาวะฉุกเฉิน  พวกก่อความไม่สงบนี้กลับเรียกตัวเองว่าเป็น “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”  แต่คราวนี้สิ่งที่ผู้นำบางคนของกระบวนการนี้เรียกร้องกลับเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย นั่นก็คือการกลับสู่การเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชเต็มรูปแบบ หรือมิฉนั้นก็เป็นการปกครองแบบเผด็จการทหารที่ได้รับการสนับสนุนโดยข้าราชการชั้นสูง ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันกระบวนการทางการเมืองของทักษิณให้พ้นจากอำนาจ

เป็นเรื่องโชคดีที่ผู้นำกองทัพของไทยดูเหมือนจะได้เรียนรู้บางอย่างจากความล้มเหลวในการทำรัฐประหารคราวที่แล้ว  ผู้นำกองทัพคนปัจจุบัยปฏิเสธที่จะทำการรัฐประหาร แม้ว่าในเวลาเดียวกัน เขาก็ปฏิเสธที่จะใช้อำนาจตามกฏหมายเรื่องสภาวะฉุกเฉิน และไม่ยอมสลายการชุมนุม  สมัครได้ยืนยันท่ามกลางกระแสกดดันที่จะไม่ลาออก แต่ในขณะเดียวกัน กลับจะเสนอให้มีการลงประชามติทั่วประเทศว่าเขาควรอยู่ในตำแหน่งต่อไปหรือไม่  ดังนั้น แปลว่าหน้าที่ในการยุติวิกฤตการณ์นี้ตกเป็นภาระของฝ่ายค้าน คนที่อยู่ในฝ่ายค้านที่มีความเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริงจะต้องแสดงออกเท่าๆกับสมาชิกของกลุ่มที่กำเนินการเพื่อการทำลายล้างระบอบประชาธิปไตยอยู่

http://www.washingtonpost.com/wp-dyn/content/article/2008/09/05/AR2008090503718.html

Thailand’s new Crisis: Washington Post Editorial

Posted in Uncategorized at 6:36 am by freethai

Quite a good piece. The issue is when and how those Bangkok elite will realise that absolute monarchy are long gone and for good. They cannot expect people to suck up, take all the shit they made and simply cannot raise their voices becuase they were born poor and nobleless.

http://www.washingtonpost.com/wp-dyn/content/article/2008/09/05/AR2008090503718.html

September 7, 2008

พันธมิตรเลวร้ายกว่ารัฐประหาร คำแปลจาดอิคอนอมิสต์

Posted in Uncategorized at 11:25 am by freethai

บทบรรณาธิการจากนิตยสาร ดิอิคอนอมิสต์ ฉบับวันที่ 5 กันยายน 2551

“ประเทศไทย: สิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าการทำรัฐประหาร”

เราไม่ควรปล่อยให้กลุ่มนิยมเผด็จการที่ใช้กำลังก่อกวนรัฐบาลสามารถล้มล้างรัฐบาลที่แม้จะมีข้อด้อยมากมายแต่ก็เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย บางครั้งก็หมายถึงการที่ต้องลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องฝ่ายประชาธิปไตยที่ไม่ได้มีความน่าเลื่อมใสนัก    นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีผู้มีวาจาก้าวร้าวของไทยอาจจะเป็นบุคคลที่ยากที่จะปกป้อง นายสมัครเป็นพวกอนุรักษ์นิยมหัวรุนแรงที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ปลุกระดม ตำรวจและอันธพาลให้ใช้กำลังเข้าทำร้ายนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงอย่างไร้อาวุธเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2519  เมื่อนายสมัคร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายหลังจากที่ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อธันวาคมปีที่แล้วหลังจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 นายสมัครได้เลือกบุคคลที่ไม่เป็นที่น่ายอมรับทางการเมืองเพราะมีความเกี่ยวโยงกับรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกทำรัฐประหาร  แต่ในสภาวะที่กองทัพต้องกลับเข้ามาสู่ท้องถนนอีกครั้งหนึ่งนั้น เป็นครั้งแรกที่ ถ้าสมัครไม่ใช่ฝ่ายที่ถูกต้อง อย่างน้อย ก็เป็นฝ่ายที่มีความผิดน้อยกว่าฝ่ายตรงข้ามที่มุ่งทำลายล้างเขา

รัฐบาลของสมัครมีข้อบกพร่องมากมาย แต่มันจะเป็นสิ่งที่ผิดและอันตรายอย่างร้ายแรง หากกลุ่มผู้ประท้วงที่ใช้กำลังเข้ายึดที่ทำการรัฐบาลในกรุงเทพสามารถบีบบังคับให้รัฐบาลลาออกได้  ในสัปดาห์ที่ผ่านมาภายหลังจากที่มีการปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างผู้สนับสนุนรัฐบาล และกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาล สมัครได้ประกาศสภาวะฉุกเฉินในกรุงเทพมหานคร  ผู้บัญชาการกองทัพให้การสนับสนุนการตัดสินใจของเขา แต่จนถึงกลางสัปดาห์ก็ยังปฏิเสธที่จะใช้กำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุมออกจากทำเนียบ  ถ้าผู้ประท้วง ที่กล่าวอ้างและเรียกตัวเองแบบผิดๆว่าเป็น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นฝ่ายชนะ ประชาธิปไตยของประเทศไทย ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาโดยมาตรฐานของเอเชียแล้วถือได้ว่าเป็นแนวหน้าของระบอบประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้ จะต้องตกอยู่ในอันตรายอย่างน่ากลัว   ผู้ประท้วงบางส่วนใหนกลุ่มของพันธมิตรเป็นพวกเสรีนิยมที่ไม่พอใจการใช้อำนาจโดยไม่ชอบของรัฐบาลทักษิณ และไม่พอใจที่รัฐบาลของสมัครก็ไม่ได้ดีไปกว่าสมัยของทักษิณ  แต่ผู้นำของกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้มีความเป็นเสรีนิยม และก็ไม่ได้ฝักใฝ่ประชาธิปไตย  กลุ่มนี้เป็นการรวมตัวของนักธุรกิจที่ต้องการเข้ามีมีปฏิกิริยาทางการเมือง นายพลทหารและข้าราชการ   พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพราะรู้ว่าพวกเขาจะแพ้การเลือกตั้งอย่างแน่นอน แต่กลุ่มพันธมิตรต้องการ “การเมืองใหม่” ซึ่งเป็นการผลักประเทศถอยหลังไปสู่การปกครองในระบอบเผด็จการ โดยเรียกร้องให้สมาชิกส่วนใหญ่ของรัฐสภามาจากการแต่งตั้ง และมอบอำนาจให้กองทัพเข้าแทรกแซงรัฐบาลได้ทุกเมื่อที่กองทัพต้องการ  คนกลุ่มนี้เถียงว่า บรรดาประชาชนส่วนใหญ่ที่สนับสนุน ทักษิณ และนายสมัคร เป็นพวกที่ “ด้อยการศึกษา” เกินกว่าที่จะสามารถตัดสินใจเลือกผู้แทนราษฎรได้อย่างเหมาะสม   ข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรมองข้ามความจริงที่พวกเขาไม่พอใจยอมรับ ความจริงที่ว่าก็คือ นายกรัฐมนตรีทั้งสองคนนั้นเป็นผู้สนับสนุนนโยบายประชานิยม อย่างการรักษาพยาบาลราคาถูกและสินเชื่อให้คนจน

สถาบันพระมหากษัตริย์ และเส้นทางสู่หายนะสายเดียวกับพม่า

ผู้นำของกลุ่มพันธมิตรฯ ใช้ข้ออ้างเดียวกับที่ใช้ตอนเรียกร้องให้มีการรัฐประหารเมื่อปี 2549 นั่นก็คือ ข้ออ้างที่ว่าพวกเขาปกป้องพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลนเดชที่คนไทยรักเคารพจากแผนการเปลี่ยนประเทศไปสู่การปกครองในระบบสาธารณรัฐ  ผู้ประท้วงร่วมกับกลุ่มพันธมิตรฯ บางส่วนเชื่อว่าการประท้วงของพวกเขาได้รับการสนับสนุนจาก”พระเจ้าอยู่หัว”  ถ้าการประท้วงแบบนี้เกิดขึ้นในที่อื่นๆทั่วโลก ป่านนี้ตำรวจคงใช้กำลังเข้าปราบปรามไปแล้ว  แต่เป็นที่กระซิบกระซาบกันทั่วไปว่า กลุ่มพันธมิตรฯได้รับการปกป้องจาก “เบื้องบน” ซึ่งรวมถึงนายทหารหัวรุนแรงและชนชั้นนำในพระราชวัง (ถึงแม้ว่าอาจจะไม่ใช่ตัวพระเจ้าอยู่หัวเอง)  สิ่งนี้อาจเป็นเรื่องที่ไร้สาระ แต่การห้ามไม่ให้มีการวิพากษ์ วิจารณ์ และก็ยังไม่มีการปฏิเสธข่าวลือนี้จากสำนักพระราชวังเพราะกฏหมายล้าหลังในเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยที่มีโทษรุนแรง กลายเป็นทำให้ข่าวลือเรื่องนี้แพร่หลายไปทั่ว

ในประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ฉบับของทางการ  พระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ปกป้องสันติภาพและประชาธิปไตย ผู้เข้ามาแก้ไขสถานการณ์วิกฤตต่างๆ  ขณะนี้ดูจะถึงเวลาแล้ว  พระดำรัสที่ชาญฉลาดของพระเจ้าอยู่หัวจะมีส่วนช่วยอย่างมากในการลดความตรึงเครียด  คนไทยชอบที่จะเชื่อว่าพวกเขาเก่งกาจในการหาข้อสรุปเพื่อลดข้อขัดแย้ง  แต่ตลอดระยะเวลาสามปีที่ผ่านมา มีสัญญาณของการประนีประนอมน้อยมากในประเทศไทย และตอนนี้ ก็มีความเสี่ยงว่าจะมีการประนีประนอมที่เลวร้าย  รัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งอย่างถูกต้องถูกบีบให้พ้นจากตำแหน่งเพื่อตอบสนองข้อเรียกร้องของกลุ่มพันธมิตรที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและใช้กำลังผิดกฏหมาย  รัฐบาลอาจถูกบีบให้ต้องยอมหลีกทางให้พรรคการเมืองฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่เคยแสดงความเป็นผู้นำทางการเมืองนอกไปจากการเฝ้ารอเวลาที่อำนาจ และตำแหน่งในรัฐบาลจะได้รับการประเคนใส่จานให้โดยกลุ่มพันธมิตร   กรณีของไทยก็ไม่แตกต่างไปจากบังคลาเทศ ที่ใช้พลเรือนออกหน้าเพื่อกลบเกลื่อนเผด็จการทหารที่อยู่เบื้องหลังและเป็นผู้มีอำนาจอย่างแท้จริง

สิ่งที่พอจะยอมรับได้ของการประนีประนอมที่สมเหตุสมผลคือ การที่นายสมัครหลีกทางให้ ผู้นำที่เป็นที่ยอมรับมากกว่าจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และกลุ่มพันธมิตรฯ รวมทั้งผู้สนับสนุน ซึ่งรวมถึงกองทัพ ข้าราชการ และ (ถ้าเป็นจริง) สถาบันพระมหากษัตริย์ จะต้องยอมรับการตัดสินใจของประชาชนืแต่ผู้นำของกลุ่มพันธมิตรฯ คงไม่ยอมยุติจนกว่าพวกเขาจะได้ชัยชนะในการนำประเทศไทยถอยหลังไปสู่ความเป็นเผด็จการ  ซึ่งในแง่นี้ กลุ่มพันธมิตรฯเป็นเรื่องที่เลวร้ายกว่าพวกที่ทำการรัฐประหารเมื่อปี 2549 เสียอีก เพราะอย่างน้อยพวกที่ทำการรัฐประหารก็สัญญาว่าจะนำประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประเทศผ่านการเลือกตั้ง  และหลังจากที่ถูกแรงกดดันจากประชาชน ก็ยอมทำตามสัญญา

ประเทศไทยที่เคยมีความเจริญรุ่งเรือง มีความก้าวหน้าและเป็นประเทศเสรี ได้พัฒนาก้าวพ้นจากยุคมืดที่เพื่อนบ้านอย่างพม่ายังประสพอยู่  พม่ายังอยู่ภายใต้เผด็จการทหารที่ถูกปล่อยให้โดดเดี่ยว  บรรดามหาอำนาจต่างประเทศที่เป็นเพื่อนของรัฐบาลไทยต้องเตือนชนชั้นนำว่าการปล่อยให้มีการล้มรัฐบาลที่มาจาการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่นำประเทศถอยหลัง และอย่างที่พม่าได้ประสพมาแล้ว การกระทำเช่นนั้นจะนำไปสู่การต่อต้านจากประเทศต่างๆทั่วโลก  บรรดานักท่องเที่ยวต่างประเทศเมื่อเห็นข่าวความไม่สงบผ่านจอโทรทัศน์ ซึ่งรวมถึงการปิดสนามบิน อาจนำไปสู่การบอยคอตโดยต่างประเทศด้วยตัวของมันเอง

 

September 2, 2008

ข่าวจากหนังสือพิมพ์การ์เดียนของอังกฤษ

Posted in Uncategorized at 12:15 pm by freethai

อ่านข่าวคนไทยฆ่าฟันกันเองแล้วผมก็เศร้าครับ

สมัครออกแล้วปัญหาจบจริงหรือ

ทำไมสนธิ ลิ้มทองกุลไม่ประกาศเป็นนายกรัฐมนตรีเองเสียเลยนะ

 

ข่าวจากหนังสือพิมพ์การ์เดียนของอังกฤษ : ประเทศไทยประกาศสภาวะฉุกเฉินหลังการประท้วงกลายเป็นความรุนแรง (2 กันยายน 2008)

 

เมื่อเช้าวันนี้ประเทศไทยได้ประกาศสภาวะฉุกเฉินแล้วหลังจากมีผู้เสียชีวิตหนึ่งรายจากการปะทะกันของกลุ่มผู้ประท้วงที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช ลาออก และกลุ่มผู้ที่สนับสนุนนายสมัคร

 

นายสมัครมอบอำนาจให้กองทัพบกเป็นผู้นำความสงบกลับคืนสู่ท้องถนนในกรุงเทพหลังจากที่มีการต่อสู้กันขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่การรณรงค์ประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

 

จุดเปลี่ยนที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้นเกิดขึ้นหลังจากที่กองกำลัง 400 นายได้เข้าสลายม็อบผู้ประท้วงที่มีอาวุธเป็นไม้กอล์ฟและท่อนไม้ซึ่งอยู่ที่ถนนหน้าที่ทำการสำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ

 

มีการยิงกระสุนปืนจำนวนหนึ่งเข้าใส่ผู้ประท้วง ซึ่งทำให้สถานการณ์เพิ่มความรุนแรงยิ่งขึ้น

 

ท่ามกลางความวุ่นวายของการเมืองไทย นายกรัฐมนตรียังเผชิญกับโอกาสที่พรรคการเมืองที่เพิ่งร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้แปดเดือนอาจถูกยุบพรรค ภายหลังที่วันนี้คณะกรรมการการเลือกตั้งได้ลงมติว่าจะเสนอให้ศาลฎีกามีคำสั่งยุบพรรคเพราะเหตุของการโกงเลือกตั้ง อย่างไรก็ดีต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าศาลจะมีคำตัดสินเช้าวันนี้ สมัครได้ประกาศภาวะฉุกเฉินโดยระบุว่าเป็น วิธีการที่นุ่มนวลที่สุดเท่าที่เป็นได้ โดยถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ระบุว่าจะมีผลนานแค่ไหน โดยเพียงแต่บอกว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างรวดเร็วในการให้สัมภาษณ์ทางทีวี สมัครบอกว่าเขาหวังที่จะหลีกเลี่ยงการใช้กฎหมายภาวะฉุกเฉินนี้ แต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจนมีผู้เสียชีวิตหนึ่งคนและบาดเจ็บ 34 ราย โดยสองคนบาดเจ็บจากการถูกยิงเป็นตัวบังคับให้เขาตัดสินใจ ไม่มีใครมีสิทธิที่จะทำเหมือนที่พวกเขา [พันธมิตรฯ] ได้ทำลงไป สมัครพูด ผมไม่มีทางเลือกอย่างอื่นนอกจากประกาศภาวะฉุกเฉินในกรุงเทพเพื่อที่จะแก้ไขปัญหาให้เด็ดขาด

 

สมัครมอบอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารบก พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นผู้รับผิดชอบโดยเด็ดขาดในการบังคับใช้กฎหมายภาวะฉุกเฉินในเมืองหลวงของประเทศไทย พลเอกอนุพงษ์บอกว่ากองทัพจะช่วยเหลือตำรวจในการรักษาความสงบ

 

คำสั่งดังกล่าวให้อำนาจผู้นำกองทัพในการกักตัวและเคลื่อนย้ายผู้คนจากสถานที่ใด ๆ การใช้กำลังทหารตามถนน การเซ็นเซอร์สื่อมวลชนที่อาจ ทำลายความมั่นคงภายในและห้ามการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป

 

ความตึงเครียดในกรุงเทพยังอยู่ในระดับสูงโดยมีกองกำลังทหารเคลื่อนไหวอยู่ที่บริเวณที่ทำการองค์การสหประชาชาติ ซึ่งตามถนนมีเศษก้อนหินและขยะจากการปะทะกันเมื่อคืนนี้ แต่ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่ารัฐบาลจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไรเพราะผู้ประท้วงรัฐบาลนับจำนวนหลายร้อยจากกลุ่มพันธมิตรฯ ยังประกาศจะรณรงค์ต่อสู้และยึดครองที่ตั้งที่ทำการรัฐบาลในกรุงเทพต่อไป

 

เราเพิ่งประกาศว่าเราต้องรณรงค์ที่ [ที่ตั้งทำเนียบรัฐบาล] ต่อไป โฆษกกลุ่มพันธมิตรฯ ประกาศวันนี้ เราต้องการประชาธิปไตย เราต้องการให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง

 

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดเกิดขึ้นหลังจากกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลและต่อต้านเผด็จการที่สวมเสื้อสีแดงให้ปะทะกับกลุ่มพันธมิตรใกล้ที่ตั้งทำเนียบรัฐบาล

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศสิงคโปร์และเกาหลีใต้ประกาศแนะนำประชาชนให้งดเว้นการเดินทางมายังประเทศไทย เว้นแต่มีความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เท่านั้น ซึ่งเป็นการชี้ว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยคงจะต้องมีปัญหาในไม่ช้า

 

http://www.guardian.co.uk/world/2008/sep/02/thailand1/print

 

 

จะเอาเผด็จการเสียงข้างมากหรือทรราชย์เสียงข้างน้อย

Posted in Uncategorized at 9:45 am by freethai

ทักษิณแม้จะมาจากการเลือกตั้ง แต่คำถามที่ยังไม่มีใครตอบได้ก็คือ ทักษิณ abuse เสียงข้างมากที่พรรคไทยรักไทยได้รับหรือไม่

การที่พรรคไทยรักไทยมีนโยบายที่ดี เป็นประโยชน์กับคนจน กระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพิ่มพลังทางการเมืองแก่ท้องถิ่น เป็นการให้สิทธิทักษิณที่จะใช้อำนาจผ่าน สส.ที่มีเพื่อทำการต่างๆที่มีการขัดแย้งผลประโยชน์หรือเอื้อต่อการทุจริต เล่นพวก เล่นพ้องหรือไม่

เราต้องนำทักษิณมาขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรม แต่ต้องเป็นกระบวนการยุติธรรมที่เป็นกลาง เป็นธรรม และถูกต้องตามหลักนิติธรรมสากล ไม่ใช่เอาคู่กัด คู่อริทางการเมืองมาล้างแค้นให้คนทั่วโลกเขาไม่ยอมรับแบบนี้

ผมอ่านบทความที่อาจารย์ธิตินันท์ แห่งรัฐศาสตร์จุฬา เขียนลงในบางกอกโพสต์ เป็นบทความที่ดี  และน่าคิดนะครับว่า ทำไมคนที่เขียนบทความดีๆ ไม่ค่อยยอมเขียนเป็นภาษาไทยเลย ผมเลยแปลเอามาให้พวกเราที่สนใจปัญหาบ้านเมืองอ่านกันนะครับ

คำแปลบทวิเคราะห์ ทรราชเสียงข้างน้อย โดยธิตินันท์ พงศ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาด้านความมั่นคงและต่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ในบางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 1 กันยายน 2551

 

ตลอดสามปีที่ผ่านมา การเมืองของไทยแปรสภาพจากเผด็จการเสียงข้างมากภายใต้อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร มาเป็นเผด็จการเสียงข้างน้อย ภายใต้การนำของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก่อนการทำรัฐประหารโดยทหารในเดือนกันยายนปี 2549 ทักษิณได้ใช้ประโยชน์จากเสียงข้างมากที่พรรคไทยรักไทยของเขาชนะเลือกตั้งมาเพื่อการใช้อำนาจโดยไม่ชอบและผูกขาดอำนาจทางการเมือง บีบเค้นคู่แข่งและเอื้อประโยชน์ให้แก่ธุรกิจของครอบครัวและพวกพ้องสร้างความมั่งคั่งให้กับบรรดาลูกสมุน แต่ในเวลานี้คู่แข่งอันฉกาจของเขาก็ได้ลุแก่อำนาจโดยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ไปในอีกด้านหนึ่งคือการที่ยึดเอาประเทศชาติเป็นตัวประกันเพื่อให้มีการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของพวกตน และในที่สุดก็เปิดเผยความไม่ไว้วางใจและความรังเกียจที่กลุ่มพันธมิตรมีต่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

 

วิกฤติการณ์ทางการเมืองที่มีมาอย่างต่อเนื่องยิ่งผันไปสู่ความเลวร้ายเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม เมื่อผู้ประท้วงของกลุ่มพันธมิตรได้เปลี่ยนจากการประท้วงตามถนนไปเป็นการใช้อำนาจตามอำเภอใจในการเข้ายึดสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที กระทรวงสองสามแห่งและที่ทำการรัฐบาล พวกเขาหันไปใช้กำลังในการพังเข้าไปทำลายข้าวของในอาคารและพังรั้วของที่ทำการของรัฐและตั้งแต่นั้นมาก็ปักหลักอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล การกระทำการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้เป็นการยั่วยุอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

 

ในประเทศที่เจริญแล้ว การยั่วยุและการเข้าไปยึดที่ทำการของรัฐจะทำให้ได้รับการดำเนินการตามกฎหมายอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้เพื่อให้รัฐบาลกลับเข้าไปครอบครองทรัพย์สินของทางราชการได้ ในทางตรงกันข้าม การกระทำผิดกฎหมายของกลุ่มพันธมิตรกลับได้รับการตอบโต้อย่างเซื่องซึมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ แม้แต่ที่สะพานมัฆวานซึ่งเป็นสถานที่เก่าแก่ในเชิงประวัติศาสตร์ของกรุงเทพ ซึ่งมีการปะทะกันระหว่างตำรวจกับกลุ่มผู้ประท้วง หลังจากที่ตำรวจพยายามเข้าไปรื้อถอนเวทีที่สร้างมากว่า 3 เดือน การบาดเจ็บก็มีเพียงเล็กน้อย ผู้ประท้วงได้รับบาดเจ็บจำนวนมากขึ้นจากการยกขบวนไปเผชิญหน้ากับตำรวจที่ประตูของกองบัญชาการตำรวจนครบาล มีรายงานข่าวว่าตำรวจซึ่งรวมตัวกันอยู่หลังประตูและกำแพงในขณะที่กลุ่มพันธมิตรล้อมอยู่ด้านนอกนั้นได้ใช้แก๊ซน้ำตาในการสลายการชุมนุม

 

ท่าทีของสาธารณชนที่มีความรู้สึกเป็นลบต่อการใช้กำลังของทางการเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ การใช้กำลังของรัฐเข้าทำร้ายประชาชนเป็นแผลฝังใจของคนไทยมานาน โดยเฉพาะแผลเก่าจากการใช้กำลังปราบปรามนักศึกษาในเดือนตุลาคมปี 1976 และการใช้กำลังปราบปรามชนชั้นกลางในเดือนพฤษภาคมปี 1992 ความเกี่ยวพันของสมัคร สุนทรเวชกับเหตุการณ์เมื่อเดือนตุลาคมปี 1976 ทำให้เขาถูกมองในแง่ลบว่าจะมีส่วนเกี่ยวพันกับการใช้ความรุนแรง ผลที่ตามมาก็คือสมัครปล่อยให้กลุ่มพันธมิตรยึดครองถนนและครอบครองทำเนียบรัฐบาลโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

นอกจากนี้กลุ่มพันธมิตร ยังใช้ความดุดันก้าวร้าวในความพยายามที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และเป็นการกดดันเพียงฝ่ายเดียวเพื่อให้รัฐบาลของสมัครลาออก คนที่ตั้งข้อสงสัยหรือวิจารณ์กลุ่มพันธมิตรถูกข่มขู่ให้เงียบ การต่อต้านกลุ่มพันธมิตรจะนำมาซึ่งการถูกทำลาย และการโจมตีเพื่อทำลายชื่อเสียง

 

และบัดนี้เป็นเวลาที่คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งเป็นเสียงข้างมากที่ยังคงสงบนิ่ง กลุ่มคนที่ไม่ชอบทักษิณ และก็ไม่ได้ชอบสมัคร คนกลุ่มนี้จะต้องออกมาประณามการบุกเข้าปล้นระบบประชาธิปไตยโดยกลุ่มพันธมิตรฯ คนไทยเหล่านี้ไม่มีองค์กรจัดตั้งหรือสื่อเป็นกระบอกเสียงเหมือนพันธมิตร แต่พวกเขาจะต้องแสดงหาหนทางที่จะแสดงความเห็น แสดงตัวตนออกมา โครงการติดริบบิ้นสีขาวที่อาจารย์คณะนิติศาสตร์ของธรรมศาสตร์เคยเสนอไว้ จะต้องนำกลับมาใช้อีกครั้ง สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นแฟนของสมัครแต่ก็ไม่สามารถยอมรับวิธีการและเจตนาของกลุ่มพันธมิตรได้ เราจะต้องเสนอวิธีการรณรงค์ต่าง ๆ เพื่อให้คนไทยที่ติดอยู่ตรงกลางระหว่างรัฐบาลสมัครกับกลุ่มพันธมิตรสามารถมีทางออกและเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้

 

แม้ว่าจะบอบบางและอ่อนแอ แต่ระบบประชาธิปไตยของไทยก็ยังพอใช้การได้ เรามีการเลือกตั้งเมื่อแปดเดือนที่แล้ว เสียงของประชาชนที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในครั้งนั้นจะต้องได้รับการเคารพ ยิ่งไปกว่านั้นเสียงของประชาชนในครั้งนั้นได้ถูกทำให้เข้มแข็งขึ้นด้วยกระบวนการตรวจสอบที่มีขึ้นหลังการทำรัฐประหาร แม้ว่าผู้นำกลุ่มพันธมิตรฯ ไม่ได้แสดงความไม่ไว้วางใจในองค์กรอิสระเช่น กกต. ปปช. ศาลรัฐธรรมนูญ และไม่มีใครปฏิเสธคำตัดสินของศาลฎีกาและศาลอาญาซึ่งได้ดำเนินคดีกับทักษิณและภริยาจนมีคำพิพากษาให้จำคุกภริยาของเขาเป็นเวลา 3 ปี จนทำให้ทั้งทักษิณและภริยาต้องเดินทางลี้ภัยออกจากไทยไปอยู่ที่อังกฤษ กระบวนการตุลาการและคำตัดสินที่สำคัญในอีกสองสามคดีข้างหน้าจะมีผลต่ออนาคตของสมัครและอาจนำไปสู่การยุบพรรคพลังประชาชนนี่เป็นเพียงตัวอย่างของคดีความที่มีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่พวกเราควรต้องเคารพและต้องปล่อยให้กระบวนการเหล่านี้ดำเนินต่อไปด้วยตัวของมันเอง

 

แต่กลุ่มพันธมิตรฯ ตระหนักดีว่าในท้ายที่สุดประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศก็จะลงคะแนนเสียงเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายเหมือนพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน ผลที่ตามมาคือการต้องเปิดเผยไพ่ทุกใบที่พันธมิตรถืออยู่ในมือ กลุ่มพันธมิตรฯต้องการให้ประเทศไทยกลับไปสู่การปกครองในยุคอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้ว ยุคสมัยของการแต่งตั้งผู้แทนเพื่อที่พวกเขาจะได้กันคนอย่างทักษิณ สมัคร พรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชนให้พ้นจากอำนาจไปตลอดกาล ด้วยการที่กลุ่มพันธมิตรฯ กลับเข้ามายึดอำนาจเสียเอง

 

เป็นที่น่าสงสัยว่ามีกลุ่มพลังกลุ่มใดบ้างที่สมคบกับกลุ่มพันธมิตรฯ พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งแพ้เลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า และยังไม่สามารถและไม่เต็มใจที่จะให้ความสำคัญกับการพัฒนากำหนดนโยบายที่ดีเพื่อเรียกคะแนนเสียงจากประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ไม่เคยเลยที่จะปฏิเสธหรือตำหนิวิธีการและความต้องการของกลุ่มพันธมิตร ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์เดินทางไปเยี่ยมกลุ่มพันธมิตรที่ทำเนียบรัฐบาล และสส. ของประชาธิปัตย์ก็เป็นผู้นำกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ก่อความวุ่นวายนี้ตั้งแต่ต้น

 

มีรายงานว่าผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์และเครือข่ายของพวกเขาเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปิดสนามบินที่ภูเก็ตและกระบี่ ถ้าเรื่องนี้ไม่จริงก็เป็นหน้าที่ที่ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์จะต้องออกมาปฏิเสธความเกี่ยวพันของสมาชิกของตนในภาคใต้ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค

 

ตอนนี้สมัครต้องตัดสินใจในเรื่องที่ลำบากมาก ผู้นำกลุ่มพันธมิตรฯ ยืนยันเรียกร้องว่าทางออกทางเดียวก็คือให้สมัครลาออก สมัครอยู่ท่ามกลางความยากลำบาก กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เขาไม่สามารถใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมที่ยึดครองทำเนียบรัฐบาลอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมายได้เพราะกลัวว่าจะไปโยงกับเรื่องเก่าที่เคยทำไว้ในอดีต และอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าและความรุนแรงที่จะเพิ่มขึ้น แต่หากจะปล่อยให้พันธมิตรฯ ประท้วงต่อไปก็จะทำให้นายกรัฐมนตรีกลายเป็นเป็ดง่อย และไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารงาน

 

การประชุมรวมกันสองสภาเมื่อวานนี้เป็นทางแก้ปัญหาที่ดีแต่ไม่น่าจะช่วยแก้วิกฤตในครั้งนี้ได้ ยิ่งสถานะของสมัครยิ่งไม่สามารถต้านทานวิกฤตได้ การที่เขาต้องลาออกและชัยชนะที่มาจากการแบล็คเมล์ของกลุ่มพันธมิตรฯ จะยิ่งทำให้ประเทศไทยเสียหายหนัก เป็นการถอยหลังของระบอบประชาธิปไตยของไทยอย่างมาก แม้แต่คนที่รังเกียจสมัครแต่ต้องการเห็นความเจริญเติบโตทางการเมืองของไทยในระยะยาวก็ต้องสนับสนุนสมัครในครั้งนี้ ให้เขารอดพ้นจากการขู่กรรโชกของกลุ่มพันธมิตรฯ ในคราวนี้

 

 

September 1, 2008

สมัครลาออกแล้วปัญหาจบจริงหรือ

Posted in Uncategorized at 3:03 pm by freethai

ผมได้อ่านบทความในไฟแนนเชียลไทมส์ วิเคราะหืได้ตรงใจระดับหนึ่งถึงเรื่องพันธมิตรที่ไม่ได้เคยคิดเชิดชูประชาธิปไตยเหมือนชื่อ

การอ้างเสียงคนส่วนน้อยมาบีบบังคับเสียงส่วนใหญ่ การเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งลาออก ลาออกแล้วผลต่อไปคืออะไร

ออกไป ตามรัฐธรรมนูญก็ต้องให้ สส. ลงคะแนนเลือกนายกฯคนใหม่

เลือกมาแล้ว หนีไม่พ้นคนของพรรคพลังประชาชนอีก แล้วจะหยุดประท้วงไหม ในเมื่อข้อกล่าวหาก็ลมๆแล้ง ข้อกล่าวหาว่าคอร์ณัปชั่น ก็อยู่ในชั้นศาล ถ้าไม่หยุดประท้วง แล้วจะอย่างไร ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ คราวนี้ ถ้าพลังประชาชนได้มากกว่าเดิม จะทำอย่างไร

ตกลงเราจะเลือกประชาธิปไตย หรือจะกลับไปสู่สมบูรณาญาสิทธิราช

 

http://www.ft.com/cms/s/0/a866220e-7774-11dd-be24-0000779fd18c.html?nclick_check=1

 

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์: (31 ส.ค. 2008)

นายกฯไทยบอกว่าจะไม่ลาออก: สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีของไทยได้ย้ำเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาว่าเขาจะไม่ลาออก และเขาได้เรียกประชุมสภาร่วมแบบฉุกเฉินเพื่อร่วมพิจารณาว่าจะยุติคลื่นของการประท้วงต่อต้านรัฐบาลที่ส่งผลต่อการจราจรทั้งทางบกและทางอากาศได้อย่างไร โดยการประท้วงได้นำไปสู่การยึดที่ตั้งที่ทำการของรัฐบาลเป็นเวลา 6 วัน

 

ในการให้สัมภาษณ์ทางวิทยุประจำสัปดาห์ สมัครยืนยันว่าเขาจะไม่ยอมก้มหัวให้กับแรงกดดันจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งได้เรียกร้องให้เขาลาออกโดยอ้างว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของสมัครซึ่งเพิ่งทำหน้าที่ได้เพียง 7 เดือนนั้นใกล้ชิดกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร มากเกินไป

 

ผมไม่กลัว แต่ผมกังวลว่าจะเกิดความวุ่นวายขึ้นในประเทศ สมัครซึ่งเป็นผู้นำพรรคพลังประชาชน ซึ่งได้ใช้นโยบายสนับสนุนทักษิณในการหาเสียงเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่าน การประกาศใช้ภาวะฉุกเฉินจะทำลายภาพพจน์ของประเทศในสายตาของชาวโลก ผมจะไม่ทำ

 

พรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลกับสมัครก็ดูจะให้การสนับสนุนเขา เป็นการปฏิเสธข่าวลือที่ว่าจะมีการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่

 

แต่ในขณะที่ฝ่ายบริหารมีความลังเลที่จะเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ประท้วงและจัดการย้ายผู้ประท้วงออกจากทำเนียบรัฐบาล ทำให้ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับภาวะสงครามที่ยืดเยื้อ โดยมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเพราะกลุ่มผู้ประท้วงพยายามเพิ่มแรงกดดันต่อฝ่ายรัฐบาล

 

การที่กลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่ต่อต้านทักษิณได้เข้าปิดล้อมสนามบินสำคัญสามแห่งและรบกวนการเดินทางในช่วงสุดสัปดาห์ เป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าพวกเขาพร้อมที่จะทำลายเศรษฐกิจของไทยเพื่อให้บรรลุจุดหมายทางการเมือง

 

นอกเหนือจากการเรียกร้องให้สมัครลาออกแล้ว กลุ่มพันธมิตรฯ ซึ่งบุกเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันอังคารที่แล้วยังต้องการให้มีสภาผู้แทนราษฎรแบบใหม่ โดยร้อยละ 70 ของผู้แทนมาจากการแต่งตั้งและร้อยละ 30 มาจากการเลือกตั้ง

 

เราก็กำลังจมลง สุนัย ผาสุก นักวิเคราะห์การเมืองของกลุ่มฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์บอก เรากำลังเผชิญกับสถานการณ์ทางการเมืองที่พร้อมจะระเบิดอย่างรุนแรงและไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนที่คุณจะคาดหมายได้ว่าจะจบสิ้นเมื่อใด คุณไม่เห็นความจริงใจหรือความเต็มใจที่จะยุติเรื่องนี้จากทุกฝ่าย

 

สนามบินในภูเก็ตและสมุยซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลที่สำคัญที่สุดของไทย 2 แห่งเพิ่งเปิดให้บริการได้อีกครั้งเมื่อวันอาทิตย์หลังจากปิดทำการไปสองวันทำให้นักท่องเที่ยวตกค้างหลายพันคน โดยสายการบินบางแห่งจะยังระงับการให้บริการต่อไป ตัวแทนการท่องเที่ยวต่างประเทศหลายแห่งรายงานว่าการจองทริปมาท่องเที่ยวในไทยลดลงอย่างมาก เพราะข่าวเรื่องการก่อความไม่สงบ

 

การปิดสนามบินไทยเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่บริษัทตัวแทนการท่องเที่ยวในยุโรปกำลังจัดเตรียมแพคเกจการเดินทางให้ลูกค้าสำหรับฤดูแห่งการท่องเที่ยวช่วงหน้าหนาวที่ถือเป็นไฮซีซั่นที่กำลังจะมาถึง ซึ่งจะส่งผลเสียให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็นร้อยละ 6 ของผลผลิตมวลรวมประชาชาติ (GDP)

 

กระนั้นก็ตามในการแถลงข่าวเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สนธิ ลิ้มทองกุล หนึ่งในผู้นำคนสำคัญของกลุ่มพันธมิตรกลับชี้ว่าอาจจะมีการดำเนินการก่อความวุ่นวายที่รุนแรงกว่าเดิมโดยชี้ว่าการปิดสนามบินคือตัวอย่างที่แสดงว่ากลุ่มผู้ประท้วงสามารถทำให้ประเทศต้องชะงักงันได้ โดยเขาบอกว่า เราสามารถทำให้เสียหายมากกว่านี้ได้

Next page